Empathy คือ อะไร? ลองคิดตามกันดูว่า การที่จะทำงานแต่ละโปรเจคนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ในการที่ทำให้ออกมามีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบ แต่รู้หรือไม่ว่า? มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะทำงานสายอาชีพไหน หรือโปรเจคแบบไหนก็ตาม นั่นก็คือ “Empathy Skill” หรือ ความสามารถในการเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำไม Empathy ถึงถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน? วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
Empathy คือ อะไร และ มีความสําคัญอย่างไร?
Empathy คือ “ความเข้าอกเข้าใจ” หรือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยที่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นเรื่องของการใช้หัวใจและความรู้สึก ซึ่งที่จริงแล้ว คงเป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนย่อมมีติดตัวอยู่แล้ว ซึ่ง Empathy นั้น สามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลายบริท และหลายสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน แต่ในวันนี้เราจะมาพูดกันถึง Empathy กับการทำงานกัน
การทำงานในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป ระหว่างทางอาจจะมีอุปสรรคหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตัวงาน หรือสภาพจิตใจของพนักงานเอง และทุกคนเชื่อหรือไม่ว่า? Empathy เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายไปได้
ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในสมาชิกในทีม เกิดทำงานผิดพลาด และเผชิญกับปัญหานั้นอยู่เพียงลำพัง จนทำให้สูญเสียความมั่นใจ ในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป แถมยังกระทบต่อภาพรวมของงานทั้งหมด กลับกัน หากทุกคนในทีมไม่ปล่อยให้เพื่อนร่วมทีม ต้องรู้สึกผิดหวังหรือท้อแท้ แต่ทีมร่วมหันมาร่วมกันพูดคุย ถามไถ่ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ พร้อมช่วยกันหาทางออก เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเดิมซ้ำอีก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ทีม และองค์กรพัฒนาไปในทิศทางที่ดี อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นผลในพริบตา แต่จะช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี พร้อมทั้งยังทำให้คุณภาพของงานดีขึ้นตามกันไปอีกด้วย เพราะสภาพแวดล้อมที่ดี จะช่วยสร้างผลผลิตและความสำเร็จที่ดีให้กับเราได้
หากยังไม่มีอุปสรรค หรือปัญหาเกิดขึ้น Empathy ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการทำงานอย่างมากอยู่ดี เพราะยิ่งบริษัทไหน สามารถสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ให้พนักงานมี Empathy ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งจะช่วยให้การทำงาน และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่า งานทุกงาน ต้องอาศัยทีมในการช่วยเหลือกัน และหากทีมมีความเข้าใจกันตั้งแต่แรก ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็จะลดน้อยลงนั่นเอง
Empathy มีอะไรบ้าง
นักจิตวิทยาระบุว่ามี Empathy อยู่ 3 ประเภท ดังนี้
1. Cognitive Empathy
การเข้าใจความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่ายอย่างเป็นเหตุเป็นผล มากกว่าโดยใช้อารมณ์เป็นเครื่องวัด รวมถึงรู้และเข้าใจ ว่าอีกฝ่ายกำลังเจอกับอะไรอยู่
2. Emotional Empathy
การที่พยายามจะรู้สึก ในแบบที่อีกฝ่ายรู้สึก เหมือนกับว่าเอาความรู้สึกของเขามาอยู่ในใจของเราจริง ๆ
3. Compassionate Empathy
การเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย และเริ่มที่จะเข้าไปช่วยเหลือ หรือทำบางสิ่งที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้
วิธีการสร้าง Empathy ในที่ทำงาน
1) วิธีสร้าง Empathy สำหรับผู้นำ
- สังเกตการทำงานของลูกทีม – เป็นการป้องกันไม่ให้ทีมงานทำงานหนักเกินไปจนเกิดอาการ Burnout ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดดันและความเครียด จนนำไปสู่การลาออกได้ ผู้นำที่มี Empathy จะรับรู้สัญญาณดังกล่าว และรีบเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ทันก่อนพนักงานจะโบกมือลาออกไป
- แสดงความจริงใจต่อความต้องการของทุกคน – ส่วนหนึ่งของ Empathy คือการเข้าใจความปรารถนา ความหวัง หรือความฝันของทีมงานแต่ละคน รวมไปถึงการจับคู่งานให้เหมาะสมกับทักษะความสามารถและความพึงพอใจ ถ้าหัวหน้างานเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมและเต็มใจในการทำงานมากขึ้น
- เต็มใจช่วยเหลือเรื่องส่วนตัว – ทุกวันนี้เส้นแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องเริ่มเลือนลางลง หลายครั้งที่หัวหน้ากับทีมงานเป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง การสื่อสารที่เปิดกว้างและการยื่นมือช่วยเหลือเรื่องส่วนตัวเมื่อจำเป็น ก็จะทำให้ทีมงานรู้สึกสบายใจในที่ทำงานมากขึ้น
- แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย – เพราะทุกคนล้วนต้องผ่านการสูญเสีย การแสดงออกถึงความเสียใจหรือการสนับสนุนเขา เป็นการสร้างมิตรภาพและรักษาความสัมพันธ์ในที่ทำงานให้แข็งแรงขึ้น
- มองความเป็นผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ – ไม่มีใครทำงานได้สมบูรณ์แบบ การทำงานผิดพลาดคือบทเรียนที่สำคัญของทีมงาน ฉะนั้นควรมีมาตรการลงโทษที่สมเหตุสมผลมากกว่าการลงโทษเพื่อให้สำนึกผิดอย่างเดียว
2) วิธีสร้าง Empathy สำหรับ HR
- ตั้งใจฟังอย่างใจจริง – การรับฟังแบบ active listening หรือ deep listening เป็นทักษะที่สำคัญต่อการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นอย่างมาก เพราะการตั้งใจฟังอย่างแท้จริงจะทำให้ HR รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะเข้าไปแก้ไขตรงนั้น แล้วพนักงานก็จะเข้ามาแบ่งปันความคิดเห็นในองค์กรมากขึ้น
- เข้าหาพนักงานแต่ละคน – HR มีเป็นฝ่ายที่เข้าหาพนักงาน ไม่ใช่รอให้พนักงานเข้ามาหา HR อย่างเดียว การเดินเข้าไปทำความรู้จักพนักงานแต่ละคน จะทำให้ HR รับรู้ถึงความต้องการของพนักงาน และสามารถวางแผนและพัฒนาพนักงานให้ตรงจุดมากขึ้น
- ให้คำปรึกษาพนักงาน – HR ควรมองตัวเองว่าเป็น “เพื่อน” กับพนักงานที่ทำหน้าที่ฝึกสอน ให้คำแนะนำ และอยากเข้าใจความเป็นไปของพนักงานทุกคน สิ่งนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
- หมั่นฝึกฝนด้วยตัวเอง – การสร้างทักษะ Empathy ต้องใช้ระยะเวลาและความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก HR จึงควรหมั่นฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นประจำ เพื่อสร้างให้เกิด Empathy อย่างเป็นธรรมชาติต่อไปในอนาคต
3) วิธีสร้าง Empathy สำหรับพนักงานทั่วไป
- ตั้งใจฟังเพื่อนร่วมงานอย่างแท้จริง – บางคนอาจไม่ได้ใส่ใจเพื่อนร่วมงานมากนัก อย่างสหรัฐฯ มีงานวิจัยว่า พนักงาน 30% รู้สึกว่าความคิดเห็นของตัวเองไม่สำคัญ เพราะเพื่อนร่วมงานไม่ได้ตั้งใจหรือใส่ใจฟัง การเริ่มฟังเพื่อนร่วมงานนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Empathy ให้เกิดขึ้น
- ถามเพื่อนร่วมงานบ่อย ๆ – ไม่ว่าจะเป็นการถามเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เป็นยังบ้าง? สบายดีไหม? หรือถามไถ่สารทุกข์สุขดิบในการทำงาน ก็จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น และทำให้เรามีโอกาสเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น
- ไม่คิดไปเอง – เป็นการหลีกเลี่ยงการตั้งสมมติฐานด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัดสินใครโดยยังไม่ได้รับฟังเหตุผล หากเกิดปัญหาในการทำงานก็ควรเปิดใจคุยกันเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ใช่คิดไปเองว่าเกิดปัญหานี้เพราะอะไร สิ่งนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมาได้
- ระลึกเสมอว่าทุกคนมีความรู้สึก – เพราะเพื่อนร่วมงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะสร้างความสุขในที่ทำงาน ฉะนั้นไม่ว่าจะชื่นชมหรือตำหนิติเตียน ก็อย่าลืมนึกถึงความรู้สึกอีกฝ่าย หลีกเลี่ยงการโจมตีไปที่ตัวบุคคล แต่ให้นึกถึงผลงานเป็นหลักจะดีกว่า
จากที่ได้ทำความเข้าใจกับคำว่า Empathy รวมทั้งวิธีการสร้าง Empathy ในที่ทำงานแล้ว หวังว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกคน และจะสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้การสร้าง Empathy สามารถสร้างได้ในทุกสังคม ตั้งแต่สังคมที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ไปจนถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้น เพราะสังคมใดก็ตามที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน บรรยากาศ ความสัมพันธ์ และผลลัพธ์ที่คาดหวัง ของแต่ละสังคมนั้น ก็จะดีขึ้นได้เช่นกัน
อ้างอิง :
https://www.mangozero.com/empathy/
https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/empathy-skill-210714
https://www.sasimasuk.com/17081820/empathy-map