เนื่องจากในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น วิธีเข้าถึงข้อมูลหรือการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวจึงทำได้ง่ายและสะดวก ส่งผลต่อความเดือดร้อนและความเสียหายกับเจ้าของข้อมูล เป็นเหตุให้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนนี้ขึ้นมา นั่นคือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือเรียกอีกอย่างว่า PDPA (Personal Data Protection Act) เป็นบทบัญญัติที่ทำการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลได้อย่างชัดเจน เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ฯลฯ หากผู้ใดกระทำการละเมิดหรือเผยแพร่ข้อมูลโดยมิได้รับการยินยอมจากเข้าของ ผู้นั้นจะได้รับโทษตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ข้อมูลที่จะได้รับความคุ้มครอง
ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data)
เป็นข้อมูลทั่วไปที่จะระบุถึงเจ้าของข้อมูลได้ชัดเจนเช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด ที่อยู่ ทะเบียนรถ อีเมล รูปภาพที่เห็นหน้าชัดเจน เลขบัญชีธนาคาร ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง เป็นต้น
ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive Personal Data)
เป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของแต่ละบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อน และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรม เช่น เชื้อชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลทางการแพทย์หรือสุขภาพ เป็นต้น
สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
● สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed)
● สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access)
● สิทธิในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (Right to data portability)
● สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object)
● สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคล (Right to erasure (also known as right to be forgotten)
● สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูล (Right to restrict processing)
● สิทธิในการขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (Right of rectification)
ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล, การป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย, จัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือการศึกษาวิจัย ความจำเป็นเพื่อปฏิบัติต่อกฎหมาย หรือเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ และการปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐ หากนอกเหนือจากนี้จะต้องไปรับโทษทางกฎหมายต่อดังต่อไปนี้
ความผิดทางแพ่ง รับความผิดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง พร้อมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น โดยสูงสุดไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง
โทษทางอาญา จำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โทษทางปกครอง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท
ข้อดีของ PDPA จะทำให้ข้อมูลของคุณไม่รั่วไหลออกไปง่าย ๆ เพราะทุกครั้งที่มีการเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูล ต้องได้รับความยินยอมจากคุณที่เป็นเจ้าของข้อมูลเสมอ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน จะไม่มีสายโทรศัพท์แปลก ๆ มารบกวนคุณในเวลาทำงานอีกต่อไป