ถ้าพูดถึงการตลาดออนไลน์ สมัยก่อนคงไม่มีใครเข้าใจและให้ความสนใจมากเท่าปัจจุบัน เพราะการตลาดออนไลน์เป็นเหมือนโลกใบใหม่สำหรับธุรกิจ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และเริ่มต้นทำได้ง่าย (หากรู้หลักและเข้าใจเครื่องมือ) จึงทำให้หลายธุรกิจเริ่มหันมาทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และเป็นเหมือนธรรมเนียมที่ทุกสิ้นปีจะต้องมีการอัพเดทเทรนด์กัน วันนี้หนูโก จาก Go Online ขออนุญาตมาอัพเดท “เทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021” พร้อมมอบสูตรสำเร็จสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้น ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
สรุป สูตรสำเร็จสร้างยอดขายออนไลน์
- เปิดหน้าร้านออนไลน์ (Online Store)
- ใส่ใจเรื่องแบรนด์ (Branding)
- วางแผนการสื่อสาร (Communication)
- ทำการตลาดผ่านโฆษณา (Advertising)
- นำข้อมูลมาวัดผลความสำเร็จ (Analytics)
1. เปิดหน้าร้านออนไลน์ (Online Store)
การมีหน้าร้านออนไลน์ เป็นมากกว่า เทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 ไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ธุรกิจที่ต้องการขายออนไลน์ “ต้องทำ” เพื่อเป็นหลักแหล่งในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของบริษัท ข้อมูลบริษัท ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วธุรกิจสามารถเลือกประเภทของหน้าร้านออนไลน์ได้หลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 3 ทางเลือก ได้แก่
- Brand.com การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
- E-Marketplace การเปิดร้านขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ E-commerce
- Social Commerce การเปิดร้านขายสินค้าผ่าน Social Media
ซึ่งแต่ละทางเลือกก็มีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกัน ดังนี้
Brand.com
คือเว็บไซต์ที่ธุรกิจมีสิทธิ์เป็นเจ้าของทั้งหมด สามารถเลือกซื้อชื่อเว็บไซต์ (Domain Name) ซื้อขนาดความจุพื้นที่บนเว็บไซต์ (Hosting) เลือกแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเว็บไซต์ (WordPress / WIX / หรืออื่น ๆ) หรือจะใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปจากผู้ให้บริการทั้งในไทยและต่างประเทศได้เช่นกัน ซึ่งการเลือกแต่ละอย่างก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป
หากอยากทราบความแตกต่างระหว่างการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress กับ WIX แนะนำบทความจาก DIGITORY อ่านเพิ่มเติมคลิก
ซึ่งถ้าธุรกิจมีความรู้ความสามารถในการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่ถ้าไม่มั่นใจ ก็สามารถปรึกษาเอเจนซี่ให้ช่วยดูแลเรื่องการสร้างเว็บไซต์ได้
E-Marketplace
คือการที่ธุรกิจไปสมัครใช้บริการเว็บไซต์ E-Commerce และทำการเปิดหน้าร้าน ใส่สินค้าและรายละเอียดเข้าไปเพื่อให้พร้อมขาย หรือจะให้นิยามง่าย ๆ ก็คือ “ตลาดนัดออนไลน์” นั่นเอง เพราะการจะเปิดร้านขายของแบบ E-Marketplace ก็ต้องมีการจ่ายค่าเช่าคล้ายกับตลาดนัด แต่จะเป็นค่าเช่าที่มาในรูปแบบค่าคอมมิชชั่นให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ที่เลือกใช้
ตัวอย่าง E-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในไทย ได้แก่ Shopee, Lazada, JD Central เป็นต้น
ซึ่งธุรกิจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดการเปิดร้านค้า ไปจนถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ที่แพลตฟอร์มโดยตรง
Social Commerce
คือการผสมผสานระหว่าง Social Media + E-Commerce ทำให้เกิดเป็นเทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่าน Social Media กรณีตัวอย่างเช่น นางสาว A เห็นสินค้าใน Instagram และเกิดความสนใจ จึงทักไปหาแม่ค้าเพื่อสั่งซื้อ แล้วไปแจ้งรายละเอียดการชำระเงินผ่านทาง LINE เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเปิดหน้าร้านผ่าน Social Commerce ไม่จำเป็นต้องจบการซื้อขายในแพลตฟอร์มเดียวเสมอไป อาจจะมีการเห็นสินค้าจากที่หนึ่ง แล้วไปสั่งซื้ออีกที่หนึ่งได้
ตัวอย่าง Social Media ที่มีการพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อมารองรับเทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 ในส่วนของ Social Commerce ได้แก่ Facebook Shop, Instagram Shopping, LINE MyShop เป็นต้น
คำถาม แล้วธุรกิจควรเลือกหน้าร้านแบบใด?
คำตอบ ต้องสำรวจประเด็นเหล่านี้ก่อน
ประเด็นที่ 1 พฤติกรรมการช้อปปิ้งสินค้าของลูกค้า
หากลูกค้าของคุณเป็นคนที่ชอบหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นใจ ชอบศึกษา อ่านรายละเอียดด้วยตัวเอง >>> เหมาะกับการสร้างเว็บไซต์
หากลูกค้าของคุณเป็นคนที่ชอบสั่งซื้อสินค้าด้วยตัวเอง มีการใช้งาน Application คล่องแคล่ว >>> เหมาะกับ E-Marketplace
หากลูกค้าของคุณเป็นคนที่ชอบพูดคุย สอบถาม และอยากได้คนช่วยแนะนำ >>> เหมาะกับ Social Commerce
ประเด็นที่ 2 ทุนทรัพย์ที่ทางธุรกิจมีเพื่อใช้ลงทุนสร้างหน้าร้านออนไลน์
หากคุณมีทุนปานกลา – มาก ต้องการให้ทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของธุรกิจ >>> เหมาะกับการสร้างเว็บไซต์
หากคุณมีทุนน้อย – ปานกลาง ไม่จำเป็นต้องมีกรรมสิทธิ์ในหน้าร้าน เน้นความรวดเร็วและสะดวกสบายในการขาย >>> เหมาะกับ E-Marketplace
หากคุณเพิ่งเริ่มต้น – มีทุนน้อย อยากทดลองตลาดดูก่อน เน้นความรวดเร็ว จำนวนออเดอร์อาจจะยังไม่มาก >>> เหมาะกับ Social Commerce
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสินค้าของคุณมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อาจทำให้คุณต้องเปิดหน้าร้านหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไป
แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำสิ่งใด ก่อน-หลัง เพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลาย
2. ใส่ใจเรื่องแบรนด์ (Branding)
ทุกวันนี้การมีตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะสำหรับลูกค้าแล้ว การเลือกใช้สินค้าจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งก็เป็นเหมือนการบ่งบอกถึงตัวตน รสนิยม สไตล์ รวมทั้งฐานะได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว การกำหนด “เอกลักษณ์ของแบรนด์” หรือ “Corporate Identity” ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ เพราะจะเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สร้างจุดเด่นให้มีความน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอีกมากมายที่กำลังทำการตลาดอยู่ในขณะเดียวกัน
การส่งเสริม Branding ที่ดีเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการกำหนดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- ออกแบบโลโก้ (Logo)
- สร้างเทมเพลตสำหรับธุรกิจ (Template)
- ใจความสำคัญในการสื่อสาร (Key Message)
- อารมณ์และแนวทาง (Mood & Tone)
การใช้สื่อที่สอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์ จะประสบความสำเร็จได้ถ้าเจ้าของแบรนด์มีความหูไวตาไว ช่างสังเกต หมั่นสำรวจคู่แข่ง และควบคุม Identity ให้ได้อย่างที่วางแผนไว้ ในอีกทางนึง หากแบรนด์ไม่ได้มีเวลาในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ การเลือก Production House ดี ๆ ที่จะมาช่วยทำสื่อจึงเป็นทางออกที่หลายธุรกิจนิยมเลือก เพราะผู้เชี่ยวชาญจะช่วยดูแลเรื่องการกำกับและคุมโทนให้ทุกสื่อที่ออกจากทาง Brand มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลโก้ สโลแกน สี สัญลักษณ์ มาสคอต ฯลฯ
หากต้องการศึกษาเรื่องการทำ Corporate Identity หรือ CI ให้สะท้อนตัวตนของแบรนด์ แนะนำบทความจาก DIGITORY อ่านเพิ่มเติมคลิก
3. วางแผนการสื่อสาร (Communication)
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าของธุรกิจคือการทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสาร เพราะการทำคอนเทนต์ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยแนวคิดของคนทำคอนเทนต์ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเล่าในสิ่งที่ลูกค้าอยากฟัง แต่ยังสื่อสารใจความสำคัญของธุรกิจได้! หากทำได้แบบนี้ การทำคอนเทนต์ก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับคนที่อยากทำคอนเทนต์
- ศึกษาลูกค้า – ทำความเข้าใจลูกค้าในเชิงลึก ความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมของลูกค้า ตรรกะในการเลือกซื้อสินค้า เหตุผลที่เค้าชื่นชอบแบรนด์ของเรา เพื่อนำ Insight เหล่านั้นไปใช้ในการเขียน Content ให้โดนใจ
- เลือกช่องทางสำหรับเผยแพร่ – หลังจากศึกษาลูกค้าแล้ว ต้องสำรวจว่ากลุ่มลูกค้าอยู่ที่ใด เพื่อกำหนดช่องทางในการสื่อสาร เช่น ถ้าหากลูกค้าเป็นคนชอบพูดคุยก่อนสั่งซื้อ อาจจะใช้ LINE Official Account เป็นช่องทางในการสื่อสาร
- กำหนดเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ – เมื่อเลือกช่องทางได้แล้ว ให้ศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งรูปแบบที่สามารถทำได้ เช่น ต้องทำเป็นรูปภาพแบนเนอร์ขนาด 1040×1040 เท่านั้น หรือ ห้ามสื่อสารในแง่ที่สื่อไปถึงเรื่องการเคลมผลลัพธ์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องนำสิ่งที่ได้จาก Insight มาใช้ในการดึงดูดลูกค้าให้สนใจอีกด้วย
- วัดผลและปรับปรุง – สุดท้ายแล้ว ทุกครั้งเมื่อมีการสื่อสารออกไป ต้องวัดผลโดยการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยทำไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าคอนเทนต์ไหนได้รับผลตอบรับที่ดีที่สุด
เราลองมาดูประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมกันดีกว่า
- ให้ความรู้ – มุ่งเน้นการอธิบายรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการนำเสนอ โดยอาจจะเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องทางตรง หรือทางอ้อม กับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ หรือจะเป็นความรู้ด้านอื่น ๆ ที่กลุ่มลูกค้าของธุรกิจมีความสนใจก็ได้
- เล่าเรื่องแบรนด์ – แนะนำ นำเสนอสินค้าหรือบริการ บอกที่มาที่ไปของแบรนด์ คุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้านำไปประกอบการตัดสินใจ หรือสะท้อนตัวตนให้ลูกค้ารู้สึกว่าเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ
- แฝงการขาย – เป็นการทำคอนเทนต์ที่มีการ Tie in สินค้าไว้ด้านใน อาจเปิดเรื่องด้วยหัวข้อที่น่าดึงดูดใจ และทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดาได้ว่าจะมีการขายสินค้าอะไรเกิดขึ้นในคอนเทนต์นั้น ๆ
- ใช้ Emotional – เป็นอีกคอนเทนต์ที่นิยมทำ เหมาะกับสินค้าหรือบริการที่ต้องใช้อารมณ์บีบคั้นในการตัดสินใจ เช่น ประกันชีวิต เป็นต้น
หากสนใจศึกษาด้านการทำ Social Media Content และดูตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ คลิกที่นี่
4. ทำการตลาดผ่านโฆษณา (Advertising)
ในปีหน้า เทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 จะดุเดือดมากขึ้นในเรื่องของการโฆษณา เพราะหลายธุรกิจเริ่มกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นในปี 2020 จึงทำให้การแข่งขันย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา การใช้งบประมาณอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้ในการทำโฆษณาเชิงลึกด้วย ทั้งการประมูล (Bidding) การทำ A/B Testing เพื่อหาแคมเปญโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นี่จึงเป็นเหมือนอุปสรรคหนึ่งของเจ้าของธุรกิจที่อาจจะไม่มีเวลามากพอในการนั่งอัพเดทข่าวสาร หรือทดลองอะไรมากมายเท่าที่ควร โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมตลอดปีที่ผ่านมา และจะยังคงเป็นกระแสอยู่ในปีหน้า ได้แก่
- Facebook Ads เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนไทยกว่า 55 ล้านคน แพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุด และมีวัตถุประสงค์โฆษณาหลากหลาย
- LINE Timeline Ads ช่องทางทำโฆษณาน้องใหม่ เข้าถึงคนไทยกว่า 47 ล้านคนผ่าน Timeline
- Google Ads นำเสนอเว็บไซต์ของคุณที่หน้าผลการค้นหา เข้าถึงลูกค้าด้วย Keyword ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ
- YouTube Ads โปรโมทคอนเทนต์วิดีโอที่คุณมี เพิ่มยอดวิววิดีโอ สร้างกระแสได้ชั่วข้ามคืน
- Twitter Ads โฆษณาในตลาดแห่งใหม่ กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น – วัยทำงาน เหมาะสำหรับเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ
- TikTok Ads แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่เน้นความสร้างสรรค์ ทำโฆษณาโปรโมทคลิปสั้นได้
5. นำข้อมูลมาวัดผลความสำเร็จ (Analytics)
การรู้ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม เป็นเหมือนแต้มต่อในการแข่งขัน แต่สำหรับการทำการตลาดออนไลน์ การรู้ข้อมูลลูกค้าจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพ ธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการทำการตลาดออนไลน์มาวัดผลได้ผ่านเครื่องมือ Analytics ทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้ว่าธุรกิจของคุณอยู่ในขั้นไหน และหาวิธีขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
Google Analytics จึงเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในธุรกิจที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรี แถมยังมีข้อมูลให้ดูได้หลายส่วน ดังนี้
- Audience Report – ดูข้อมูลประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ ที่อยู่อาศัย หรือ อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้ ความสนใจ เป็นข้อมูลของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์
- Acqusition Report – ดูช่องทางที่พาให้คนเข้ามาชมเว็บไซต์เรา เพื่อจะได้ไปกำหนดงบประมาณได้ถูกต้อง เช่น จำนวนคนเข้าเว็บไซต์จาก Google Ads / Facebook / Instagram เป็นต้น
- Behavior Report – ดูพฤติกรรมของคนที่เข้ามาในเว็บไซต์ว่าเข้าไปที่หน้าไหน เปิดต่อกี่หน้า ปิดที่หน้าไหน ใช้เวลานานเท่าไหร่
- Conversion Report – สำหรับเว็บไซต์ที่เป็น E-Commerce สามารถตรวจสอบยอดขาย ดู Conversion Funnel ได้
- Real-time Report – ดู Report ทั้งหมดแบบปัจจุบันทันด่วน เห็นข้อมูลเป็นรายวินาที ช่วยให้รู้ความเป็นไปของเว็บไซต์ในขณะนั้น
หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง Google Analytics ขอแนะนำบทความจาก DIGITORY อ่านเพิ่มเติมคลิก